วันที่ 17 มกราคม 2561
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สปคม. กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ในรายการบ่ายนี้มีคำตอบ เรื่อง "ระวังโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า@ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9
• โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เกิดจากการรับเชื้อที่มากับอาหารและน้ำโดยตรงเข้าทางปาก หรือ...
โดยอ้อมหลังการสัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆ ที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัส อาการของโรคคือ มีไข้ อาเจียน และท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการขาดน้ำ การติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นได้ทุกกลุ่มอายุ แต่การติดเชื้อซ้ำความรุนแรงจะน้อยลง โรคท้องเสียโรตา เป็นโรคที่เกิดกับ เด็ก มากกว่าผู้ใหญ่ การติดเชื้อครั้งแรก อาการจะรุนแรง และการติดเชื้อครั้งต่อไป อาการจะน้อยลง จนในที่สุด จะเป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ
"โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ป่วยง่ายและในช่วงนี้มีแนวโน้มพบผู้ใหญ่ป่วยมากขึ้น"...
• ปกติพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมานี้ พบว่ามีรายงานในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจติดเชื้อจากการดูแลเด็กที่ป่วย หรือติดจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
• เชื้อไวรัสโรต้ามักจะพบมากในช่วงฤดูหนาว ช่วงอากาศหนาวเย็น
• ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยจากโรคอุจจาระร่วงจากทุกสาเหตุ ..ประมาณ 1 ล้านคน ใกล้เคียงกันทุกๆ ปี โดยพบว่าจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นในช่วงปลายปีจนถึงต้นปี 2561 นี้
• จากการสุ่มตรวจพบว่า มีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ และพบมากในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
• กรมควบคุมโรค มีการเฝ้าระวังและสอบสวนเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน..อย่างต่อเนื่อง
• มาตรการที่จะเน้นในการป้องกันและควบคุม ได้แก่
1) การสื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความตระหนัก
2) การดำเนินการควบคุมในพื้นที่ที่มีการระบาด
3) การวางระบบเฝ้าระวังอุบัติการณ์โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าอย่างต่อเนื่อง
4) การควบคุม มาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อม และ
5) การควบคุมมาตรฐานคลอรีนในน้ำประปา
• วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า นั้น มีข้อบ่งใช้เฉพาะในเด็กเล็ก โดยให้ครั้งแรกในเด็กอายุมีวัคซีน ให้ในทารก อายุระหว่าง 6 สัปดาห์ถึง 8 เดือน โดยให้กิน 2-3 ครั้งหยอดเข้าทางปาก ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน (ไม่ใช้ในเด็กโตและผู้ใหญ่)
• วัคซีนสามารถลดการป่วยและความรุนแรงของโรคได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อนำวัคซีนนี้เข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศต่อไป ทำให้ขณะนี้ยังไม่มีให้บริการในโรงพยาบาลรัฐทั่วไป แต่มีให้บริการแบบมีค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลของรัฐบางแห่ง
• โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เกิดจากการรับเชื้อที่มากับอาหารและน้ำโดยตรงเข้าทางปาก หรือโดยอ้อมหลังการสัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัส
• อาการจะเกิดขึ้นภายใน 1-3 วัน และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่าสัปดาห์หลังเริ่มมีอาการ
• อาการของโรคคือ มีไข้ อาเจียน และท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการขาดน้ำ หากรับการรักษาไม่ทันหรือไม่เหมาะสม อาจเกิดอันตรายได้ ทั้งนี้
• ข้อมูลยังพบอีกว่า สามารถมีการติดเชื้อซ้ำได้หลายครั้ง โดยครั้งหลังๆ อาการจะน้อยลง
• การป้องกันสามารถทำได้โดยใช้มาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ดังนี้
1.รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน และสะอาด
2. การใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน และ
3.หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทั้งก่อนและหลังปรุงอาหาร และภายหลังการใช้ห้องน้ำ
...ขอให้ระมัดระวังการกินน้ำแข็งที่ไม่สะอาด เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ ได้ และควรกำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร รวมถึงการดูแลสภาพแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะอยู่เสมอ
• ประชาชนควรหมั่นสังเกตอาการ หากเริ่มมีอาการไข้ อาเจียน หรืออุจจาระร่วง ควรหยุดเรียน หยุดงาน หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ดื่มน้ำเกลือแร่หรือสารละลายเกลือแร่ เพื่อทดแทนสารน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป ไม่ควรซื้อยาฆ่าเชื้อกินเอง
• หาก "อาการรุนแรงขึ้น" เช่น อาเจียน หรือถ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว ในสถานที่ที่พบผู้ป่วยหลายคน ควรมีการทำความสะอาดบริเวณรอบๆ และสิ่งแวดล้อม
• หากมีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงภายให้บ้าน ควรทำความสะอาดห้องน้ำด้วยน้ำยาที่มีสารประกอบจำพวกคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์ (2%) คลอรอกซ์ และไฮเตอร์ เป็นต้น และทำความสะอาดของเล่น เครื่องใช้ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือนำไปตากแดด หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422